วันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ฝึกอบรมอย่างไรจึงจะเกิดประสิทธิภาพ ???

ความหมายของการฝึกอบรม (การฝึกอบรมคืออะไร ?)
.
นานาทัศนะเกี่ยวกับความหมายของการฝึกอบรม
1. การฝึกอบรม คือกระบวนการในการเพิ่มพูนความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงาน
2. การฝึกอบรมคือเครื่องมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความรู้ ทัศนคติ และความสามารถในการปฏิบัติงาน
3. การฝึกอบรมคือขั้นตอนย่อยในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งว่าด้วยกระบวนการสรรหาบรรจุแต่งตั้ง ฝึกอบรมพัฒนา มอบหมายใช้งาน จูงใจ ค่าจ้างเงินเดือน สวัสดิการ สภาพแวดล้อมในการทำงาน การประเมินผลการปฏิบัติงาน และการวิจัยงานบุคคล (จะเห็นได้ว่า การฝึกอบรมและพัฒนา เป็นส่วนประกอบย่อยในการบริหารทรัพยากรมนุษย์)
4. ดร. ทนง ทองเต็ม มีความเห็นว่า การฝึกอบรม คือ กระบวนการในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนรู้ของมนุษย์ อันประกอบไปด้วย ความรู้ (Knowledge-K) ความเข้าใจ (Understanding-U) ทัศนคติ (Attitude-A) และทักษะความชำนาญในการปฏิบัติงาน (Skills-S)
5. กล่าวโดยสรุป การฝึกอบรมคือกระบวนการในการเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ของบุคคล ในเรื่องของ KUAS เพื่อให้มีขีดความสามารถในการปฏิบัติงานตามความต้องการของตำแหน่งงานในปัจจุบัน (Job Requirement) และมีความพร้อมที่จะปฏิบัติงานซึ่งมีค่าของงานสูงขึ้น และ/หรือ การเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งในอนาคต (Readiness for Higher Responsibility And Job Promotion)
.
กระบวนการขั้นตอนในการฝึกอบรม (ทำอย่างไรให้การฝึกอบรมมีประสิทธิภาพ ?)
เนื่องจากการฝึกอบรมมีค่าใช้จ่ายทั้งทางตรงและทางอ้อม ค่าใช้จ่ายทางตรงเช่น ค่าวิทยากร ค่าเอกสาร ค่าจัดเลี้ยงอาหารเครื่องดื่มของว่าง ค่ายานพาหนะในการเดินทาง ค่าสถานที่ในการฝึกอบรม ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายทางอ้อม เช่น เงินเดือนของเจ้าหน้าที่ฝึกอบรม เงินเดือนของผู้เข้ารับการฝึกอบรม ค่าเสื่อมราคาของอุปกรณ์โสตทัศนูปกรณ์ ค่าพลังงานด้านกระแสไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ ค่าเสียโอกาสในการที่พนักงานไม่ได้ปฏิบัติงานจริงในการผลิตสินค้า และ/หรือ ให้บริการลูกค้าของบริษัท จากข้อความดังกล่าวข้างต้นนี้เองการฝึกอบรมจึงต้องดำเนินการอย่างมีขั้นตอน เพื่อให้มีหลักประกันในเบื้องต้นว่า ทำแล้วคุ้มค่าได้ผลจริง เกิดการประหยัดการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ในการดำเนินการของบริษัท ยอดขายเพิ่มขึ้น อุบัติเหตุลดลง พนักงานมีขวัญกำลังใจ และมีทัศนคติที่ดีต่อบริษัท มุ่งมั่นในการทำงาน สมัครสมานสามัคคี และมีการทำงานเป็นทีม
.
กระบวนการ หมายถึงขั้นตอนที่มีการเดินการอย่างเป็นระบบ อีกทั้งแต่ละขึ้นตอนมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน หากขาดขั้นตอนใด ขั้นตอนหนึ่ง ก็จะส่งผลให้ภาพรวมของการฝึกอบรมไร้ประสิทธิภาพไปด้วย ในหนังสือเล่มนี้จะขอเสนอแม่แบบในการดำเนินการฝึกอบรมเพื่อประกอบการพิจารณาดังนี้.-
.
1. แม่แบบพื้นฐานด้านการบริหารจัดการทั่วไป คือ PDS : Plan Do See
Plan = หมายถึงการวางแผนฝึกอบรม
Do = หมายถึงการลงมือฝึกอบรม
See = หมายถึงการตรวจสอบประเมินผลการฝึกอบรม
.
2. แม่แบบของวงจรเดมมิ่ง (Deming Cycles)
P = Plan : หมายถึงการวางแผนฝึกอบรม
D = Do : หมายถึงการลงปฏิบัติ การลงมือฝึกอบรม
C = Check : หมายถึงการตรวจสอบประเมินผล
A = Act : หมายถึงการปรับปรุงแก้ไขอย่างต่อเนื่อง
.
3. แม่แบบ 5 ขั้นตอน ของ ASTD : American Society for Training and Development หรือ สมาคมฝึกอบรมและพัฒนาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้นแบบเพื่อการพิจารณาร่วมกัน
.
สำหรับเอกสารวิชาการเชิงปฏิบัติเล่มนี้ จะยึดแม่แบบของ ASTD เป็นแนวทางสำคัญ และจะเพิ่มเติม รายละเอียด ตัวอย่าง พร้อมการประยุกต์ปรับใช้เพื่อให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมการบริหารจัดการของประเทศไทย


.




















แผนภาพ แสดงกระบวนการในการฝึกอบรมของ
American Society for Training & Development – ASTD
* ทนง ทองเต็ม ปัญหาในการบริหารฝึกอบรม : ศึกษาเฉพาะกรณีการไฟฟ้านครหลวง วิทยานิพนธ์ขั้นปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาพาณิชยศาสตร์ สาขาบุคลาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จากแผนภาพข้างต้น เมื่อพิจารณาในประเด็นของกระบวนการฝึกอบรม จะเห็นได้ว่าลูกศรที่เชื่อมโยงแสดงความสัมพันธ์ระหว่าง การจัดทำโครงการในการฝึกอบรม กับ การประเมินความจำเป็นในการฝึกอบรม และ การประเมินผลการฝึกอบรม กับ การกำหนดวัตถุประสงค์ในการฝึกอบรม ณ. จุดนี้เราพิจารณาในเบื้องต้นได้ว่า การประเมินความจำเป็นในการฝึกอบรมเป็นขั้นตอนแรกที่จะทำให้การฝึกอบรมและพัฒนามีประสิทธิภาพ และหลังจากที่ได้ลงมือดำเนินการฝึกอบรมไปแล้ว การประเมินผลการฝึกอบรมก็จะมุ่งเน้นที่การวัดผลสัมฤทธิ์ของวัตถุประสงค์ในการฝึกอบรมว่าบรรลุตามที่ได้กำหนดไว้หรือไม่ (อ้างอิงจากการสัมมนา “Training Manager Seminar : The World Bank, WashingtonD.C.)
.
สรุปกระบวนการขั้นตอนในการฝึกอบรมที่มีประสิทธิภาพ ของ ASTD.
1. การประเมินความจำเป็นในการฝึกอบรม (Training Need Assessment Process) คือการรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การระบุหรือกำหนด เกี่ยวกับความบกพร่องในการปฏิบัติงานของบุคลากรด้านความรู้ ความเข้าใจ ทัศนคติ และทักษะความชำนาญงาน และตกลงใจว่าปัญหาที่ค้นพบนั้นสามารถแก้ไขได้ด้วยการฝึกอบรมหรือไม่
2. การกำหนดวัตถุประสงค์ในการฝึกอบรม (Objective Setting Process) คือการระบุถึงสภาพการณ์ทั่วไปที่ต้องการจะบรรลุ ไปให้ถึง และคงสภาพการณ์เช่นนั้นไว้ให้คงที่ คงเส้นคงวา ตลอดไป (General Conditions to be reached and maintained) การกำหนดวัตถุประสงค์การฝึกอบรมต้องมีความชัดเจน สอดคล้องกับความจำเป็นในการฝึกอบรม หรือปัญหาในการฝึกอบรมที่ค้นพบตามกระบวนการขั้นตอนของวงที่ 1 “การประเมินความจำเป็นในการฝึกอบรม”
3. การออกแบบโครงการฝึกอบรม (Program Design Process) คือกระบวนการในการจัดทำโครงการฝึกอบรมเพื่อแก้ปัญหาที่ค้นพบจากการประเมินความจำเป็นในการฝึกอบรม โครงการฝึกอบรมจะประกอบไปด้วย 2 ส่วนที่สำคัญคือ.-
ส่วนที่ 1. หลักสูตรและหัวข้อวิชาในการฝึกอบรม
ส่วนที่ 2. งานธุรการโครงการฝึกอบรม (เพื่อสนับสนุนหลักสูตรให้ประสบความสำเร็จ)
4. การดำเนินการฝึกอบรม (Implementation Process) คือขั้นตอนของการลงมือในการดำเนินการฝึกอบรมเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรในการฝึกอบรมที่ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการ ในขั้นตอนนี้จะเป็นการเลือกใช้เทคนิคต่าง ๆ ในการฝึกอบรมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของ KUAS ซึ่งเทคนิคต่างๆ จะประกอบไปด้วย .-
เทคนิคที่ 1. เน้นที่ตัววิทยากรผู้ให้การฝึกอบรมสัมมนา เช่นการพูด การบรรยาย
เทคนิคที่ 2. เน้นที่กลุ่มของผู้เข้ารับการฝึกอบรม เช่นการแบ่งกลุ่มย่อย การฝึกปฏิบัติ การลงWork shop, TeamWorkBuilding, T-Group, Group Dynamics, Walk Rally
เทคนิคที่ 3. เน้นที่การใช้โสตทัศนูปกรณ์ เช่น OHP LCD Vusilaizer VDO ICT. PLAID.
เทคนิคที่ 4. เน้นที่ผู้เรียนเป็นรายบุคคล เช่นการมอบหมายงาน การสอนงาน การศึกษาดูงาน
5. การประเมินผลการฝึกอบรม (Evaluation Process) คือกระบวนการในการวัดผลการฝึกอบรมและทำการเปรียบเทียบกับวัตถุประสงค์ เกณฑ์ในการฝึกอบรม หรือตัวชี้วัดความสำเร็จ (KPIs) การประเมินคือการตัดสินคุณค่าที่วัดได้ ว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์เป้าหมายของการฝึกอบรมหรือไม่ ขนาดไหน เพียงใด การประเมินจะแบ่งได้เป็น 4 ลักษณะใหญ่ ๆ คือ.-
ด้านที่ 1 การประเมินความพึงพอใจ (Reaction Evaluation) เป็นการวัดความคิดเห็น ทัศนคติ และความพึงพอใจของผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่มีต่อ หลักสูตร วิทยากร การต้อนรับอำนวยความสะดวกต่างๆ
ด้านที่ 2. การประเมินการเรียนรู้ (Learning Evaluation) เป็นการวัดผลการเรียนรู้ เช่นการทดสอบความรู้ การมอบหมายให้จัดทำแผน โครงการ ต่าง ๆ หรือการให้แก้ปัญหาตามกรณีศึกษาที่กำหนด
ด้านที่ 3. การประเมินพฤติกรรม (Behavior Evaluaiton) เป็นการวัดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเปรียบเทียบ ก่อน-หลัง การฝึกอบรม และการติดตามผลการปรับเปลี่ยนทัศนคติ ท่าทีในการปฏิบัติงาน เช่นการให้บริการลูกค้า การบริหารจัดการลูกน้องผู้ใต้บังคับบัญชา การปฏิบัติงานด้วยความปลอดภัย เป็นต้น
ด้านที่ 4. การประเมินผลลัพธ์ (Result Evaluation) เป็นการวัดผลสัมฤทธิ์ของการฝึกอบรมว่าก่อให้เกิดการประหยัดค่าใช้จ่าย การเพิ่มผลผลิต การเพิ่มยอดขาย การลดอุบัติเหตุ ต่าง ๆ เป็นต้น
.
โปรดติดตามบทความในตอนต่อไป สำหรับท่านผู้ที่มีความสนใจในเรื่องของการฝึกอบรมและพัฒนา
ขอขอบพระคุณที่กรุณาให้ความสนใจ (081) 936-7548

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น